น้ำหอมโลกาภิวัตน์ ตัวแทนแห่งยุคสมัยที่ไม่มีวันตาย

ยุคที่คำว่า “โลกาภิวัตน์” หรือ globalization ได้ถือกำเนิดขึ้น และติดปากของใครๆ หลายคนในฐานะตัวแทนความคาดหวังถึงยุคใหม่ สิ่งใหม่ ผลงานสร้างสรรค์ใหม่ โดยอาศัยมุมมองอันแตกต่างกับความกล้าที่จะสร้างโจทย์ท้าทายตัวเองเพื่อขานรับการมาถึงของสหัสวรรษใหม่ แน่นอน เรากำลังกล่าวถึงทศวรรษ 1990 ช่วงเวลาที่จุดบรรจบระหว่างกระแสความนิยมย้อนยุคกับแนวคิดอนาคตนิยมได้ก่อกำเนิดแรงบันดาลใจทางงานออกแบบในทุกแวดวง ทั้งวิทยาศาสตร์ และศิลปะ จากวิทยาการทางการสื่อสาร คมนาคม ไปจนถึงวัฒนธรรมทางดนตรี การแต่งกาย และแม้กระทั่งน้ำหอม

 

ในขอบข่ายสุคนธศิลป์ หรือศิลปะการปรุงน้ำหอม ทศวรรษ 1990 ถือเป็นยุคทองของการทดลองแนวคิดใหม่ และหัวน้ำหอมกลิ่นใหม่ อันถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิต โดยใช้รากฐานจากอดีตอันยาวนานตลอดหนึ่งศตวรรษมาพลิกแพลง ผลงานที่ได้หลายกลิ่น กลายเป็นใบเบิกทางให้แบรนด์น้ำหอมเจาะตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่มอย่างที่เรียกกันว่า niche ได้ปูรากฐานอันมั่นคงให้ตัวเองอย่างชัดเจนก่อนจะค่อยๆ เติบโต ขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของตนจนกลายเป็นที่รู้จัก และสนใจหลังเวลาผ่านมาอีกเกือบยี่สิบปี

 

หนึ่งในตัวอย่างของการทดลองนำแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์น้ำหอมตลอดศตวรรษที่ 20 มารังสรรค์ใหม่จนกลายเป็นผลงานต้นแบบมาจนถึงปัจจุบันนี้ คงเลี่ยงไม่พ้น Angel ของ Thierry Mugler (เธียร์รี มูแกลร์) ซึ่งนับจากเริ่มวางจำหน่ายจน 30 ปีให้หลัง กระทั่งตัวเธียร์รี มูแกลร์เจ้าของแบรนด์ได้จากโลกนี้ไปแล้ว ก็ไม่มีใครที่เคยได้กลิ่นจะสามารถลืมความหอมหวานชวนฝัน เต็มไปด้วยแง่มุมบุคลิกหรูหรา และเย้ายวนซึ่งโอลิวิเอร เครสป์เป็นผู้ออกแบบด้วยการคิดค้นหัวน้ำหอมปรุงสูตร (accord) จำลองกลิ่นขนมสายไหมที่เด็กๆ โปรดปรานเพื่อใช้เป็นศูนย์กลาง รายล้อมด้วยบรรดาหัวน้ำหอมตระกูลดอกไม้บนฐานโครงสร้างอันมีแพ็ทชูลิรองรับ และโรยหน้าฉากด้วยโทนกลิ่นเย็นสดชื่นของหัวน้ำหอมกลิ่นน้ำ (aquatic) จนก่อปรากฏการณ์ลือลั่น ด้วยเอกลักษณ์อย่างที่ไม่เคยมีใครได้กลิ่นน้ำหอมแบบนี้มาก่อน

 

จากการใช้หัวน้ำหอมหลากชนิดหลายตระกูลเป็นจำนวนมากโดยใช้โครงสร้างเรียบง่าย ปราศจากความซับซ้อนอย่างที่ไม่ค่อยมีสุคนธกร หรือผู้ปรุงน้ำหอมคนไหนทำ รวมถึงงานออกแบบขวดรูปดาวห้าแฉกทำจากแก้วใสครอบฝาจุกหัวฉีดสีเงิน และแผนการตลาดอันเป็นที่จดจำจากภาพถ่ายสไตล์ ‘มูแกลร์’ ถึงยอดขายจะไม่ทะยานลิบลิ่วในทันทีตั้งแต่ปี 1992 หากกลิ่นหอมสะกดอารมณ์ ชวนให้น้ำลายสอ ทำให้จดจำได้ในเดี๋ยวนั้น สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้ผู้ใช้ได้ในทันที ก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญทางการตลาดด้วยการเป็นน้ำหอมขายดีอันดับที่ห้าตลอดยุคในสหรัฐอเมริกา และขายดีกว่าน้ำหอม Chanel No.5 ในฝรั่งเศส นอกเหนือจากการเป็นต้นแบบของน้ำหอมตระกูลกลิ่นตะวันออกแนวกลิ่นขนมหวาน (Oriental Gourmand) ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่าน้ำหอมกลิ่นขนมหรือ gourmand

 

ภาพโฆษณาน้ำหอม Angel รุ่นแรกซึ่งแสดงแบบโดยเจอร์รี ฮอลล์ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น “นางฟ้า” หรือ “นางแบบคู่บุญ” ของเธียร์รี มูแกลร์ ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ทางการของ Thierry Mugler

 

เราก็ยังสามารถถามหาน้ำหอม Angel ได้อย่างไม่ต้องเกรงว่าจะดูเชย หรือตกสมัย ในขณะเดียวกัน ถ้าหากต้องการน้ำหอมแนวกลิ่นขนม ก็หาได้มีแบรนด์ได้มอบผลงานเลียนแบบกลิ่นสายไหมหวานชื่น เต็มไปด้วยเสน่ห์เย้ายวนแห่งความเป็นผู้หญิงสุดอบอวลได้เท่า Angel 

 

กลางทศวรรษ 1990 แนวคิดธรรมชาตินิยม หรือความต้องการหวนคืนสู่ธรรมชาติ ได้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง ดังจะเห็นได้จากการถือกำเนิดของบรรดาน้ำหอมแนวกลิ่นน้ำของแบรนด์ต่างๆ (อาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานต่อยอดมาจากแนวคิดต้นแบบในปลายทศวรรษ 1980) กระนั้น กลับมีกลิ่นของใบไม้ดอกไม้จากสวนสวรรค์แห่งแรกของโลกปรากฏขึ้นในรูปแบบ ‘สวนป่าพลาสติก’ Eden ของ Cacharel (กาชาเรล) มอบแนวกลิ่นล้ำยุค ถือกำเนิดจากจินตนาการของฌอง กวิชารด์ผู้ออกแบบ อันมีต่อดอกไม้พลาสติกซึ่งกำลังผุพัง และแตกสลายเป็นจุดตั้งต้นของการนำหัวน้ำหอมสังเคราะห์กลิ่นพีชกับสับปะรดมาปรุงสูตรเพื่อใช้เป็นหัวใจของโครงสร้างกลิ่นร่วมกับหัวน้ำหอมตระกูลดอกไม้ โดยมีฐานโครงสร้างกลิ่นไม้เจือการบูรของแพ็ทชูลิรองรับ พร้อมกับนำหัวน้ำหอมปรุงสูตรจำลองกลิ่นน้ำมาพลิกแพลงเพื่อให้ความรู้สึกถึงกลิ่น ‘โลหะ’ ทอประกายแวววาว ตัวแทนแห่งความทันสมัยเติมทับลงไป ผลลัพธ์ที่ได้คือกลิ่นอบอวลของป่าพลาสติกอันซับซ้อนก่อนจะเผยเสน่ห์เย้ายวนของกลิ่นดอกซ่อนชู้ซึ่งแฝงเร้นอยู่ลึกสุด

 

ภาพโฆษณาน้ำหอม Eden ซึ่งตัดมาจากภาพยนตร์โฆษณาร่วมกับข้อความที่แปลว่า “น้ำหอมต้องห้าม” ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ทางการของ Cacharel

 

เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดสัญลักษณ์นิยมในเนื้อกลิ่น นั่นก็คือ ท่ามกลางความทันสมัยของสิ่งประดิษฐ์ และวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ ซึ่งกำลังมีบทบาท และอิทธิพลอย่างยิ่งในวิถีการดำเนินชีวิต กระนั้น ในจิตใจของผู้คนยังคงโหยหาความเป็นธรรมชาติอันทรงอำนาจอย่างแท้จริง ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว ภาพยนตร์โฆษณาน้ำหอม Eden ได้สร้างปรากฏการณ์เป็นที่กล่าวขวัญถึงนับแต่เริ่มเปิดตัวเมื่อปี 1994 จากเทคนิคการใช้สี องค์ประกอบศิลป์ และเสียงประกอบแนวเพ้อฝันเชิงหลอนจิต เปิดฉากด้วยนางแบบเปลือยกายเดินโทงๆ (อย่างไม่มีการเซ็นเซอร์เพื่อความเป็นอีฟ ผู้หญิงคนแรกของโลกที่อาศัยอยู่ในสวนอีเด็น) เข้าไปในป่าจนเจอชายหนุ่มเปลือยกาย (คงต้องเป็นอาดัม) อยู่ในบ่อน้ำ กำลังเพลิดเพลินกับการหยิบผลไม้สารพันจัดวางบนถาดใบไม้ลอยน้ำ (นึกถึงภาพใน ig หรือ facebook ของคนที่ไปเที่ยวพูลวิลลาและต้องลงภาพ breakfast in pool) จากนั้น ขวดน้ำหอมรูปทรงประหลาดของ Eden จึงค่อยปรากฏขึ้นบนหน้าจอพร้อมเสียงประกอบ Eden Eden Eden La Parfum Defendu (อีเด็น อีเด็น อีเด็น น้ำหอมต้องห้าม)

 

ถึงแม้ปัจจุบัน น้ำหอมเจ้าของกลิ่นดอกไม้พลาสติกตัวแทนวิทยาการสังเคราะห์จำลองแบบธรรมชาตินี้จะยุติการวางจำหน่ายไปแล้ว หากใครก็ตามที่เคยได้กลิ่น น่าจะยังจดจำถึงแบบฉบับเฉพาะตัวนี้ได้เช่นเดียวกับกลิ่นไฟของ Le Feu d’Issey (เลอ เฟอ ดิซเซ) ซึ่งอิซเซ มิยาเกะวางจำหน่ายเมื่อปี 1998 เพื่อเป็นบทประกาศถึงปี 2000 จุดเริ่มต้นสหัสวรรษใหม่ที่หลายคนกำลังตื่นเต้น และรอคอยด้วยความคาดหวัง และเมื่อ ‘ลูกไฟแห่งอิซเซ’ ได้วางจำหน่าย ก็นำมาซึ่งความพิศวงงงงวยกึ่งตกตะลึงต่อความแปลกใหม่จนถึงขั้นพิสดาร นับตั้งแต่ขวดทรงกลมประกอบกลไกปลอกเลื่อนเปิด/ปิดล้อมหัวฉีดสเปรย์เพื่อป้องกันการกดหัวฉีดแบบไม่ตั้งใจ กับเฉดสีแดงเพลิงสดสว่างบาดตาของวัสดุเพล็กสิกลาสน้ำหนักเบาให้สัมผัสก้ำกึ่ง มีความเป็นยางพลาสติก กระนั้นก็หรูหราเหมือนแก้ว และพอฉีดน้ำหอมออกมา ถ้าใช้คำศัพท์จากวงการภาพยนตร์ คงกล่าวได้ว่านี่คือน้ำหอมกลิ่น ‘อินดี’ ชัดๆ

 

โมเลกุลกลิ่นแล็กโตนถูกนำมาพัฒนาเป็นหัวน้ำหอมสำคัญเพื่อมอบกลิ่นน้ำนมอยู่ท่ามกลางรายละเอียดกลิ่นดอกไม้และผลไม้ โครงสร้างสลับซับซ้อนจากการออกแบบของฌาคส์ คาวาลิเอรจุดประกายแรกเริ่มเหมือนสะเก็ดไฟโดยอาศัยบรรดาเครื่องเทศอย่างเมล็ดพริกไทยดำ, เมล็ดผักชี และเมล็ดโปยกั๊ก ซึ่งกลมกลืนเข้ากับหัวน้ำหอมปรุงสูตรกลิ่นควันไฟจากการเผาไม้แก้วเจ้าจอม (guaiac wood) ที่โรยกลีบกุหลาบตามลงไป ในขณะที่กลิ่นน้ำนมดังกล่าวข้างต้นได้สร้างเอกลักษณ์อย่างไม่มีใครเหมือน

 

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ...กลิ่นหอมคล้ายยางหนังสติ๊กไหม้ไฟ เจือกลิ่นหอมหวานแบบครีมน้ำนม เหนืออื่นใด Le Feu d’Issey กลับมอบความมหัศจรรย์ด้วยการเป็นน้ำหอมที่เลือกผู้ใช้ เพราะในขณะที่ผู้หญิงหลายคนผงะไปกับความแปลกของกลิ่น กลับมีผู้หญิงบางคน ซึ่งเคมีผิวบนตัวเข้ากับน้ำหอมกลิ่นนี้จนส่งกลิ่นเซ็กซี เย้ายวน และเต็มไปด้วยความทันสมัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 

ภาพโฆษณาน้ำหอม Le Feu d’Issey รุ่นแรก อาศัยการให้สีกับมิติแสงเพื่อสะท้อนถึงความเป็น “ลูกไฟของอิซเซ” ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ทางการของ Issey Miyake

 

และเพราะเป็นน้ำหอมซึ่งเข้าถึงยากระดับบรรลุจุดสูงสุดแห่งความแปลกใหม่ ณ ปลายทศวรรษ ในเวลาต่อมา Le Feu d’Issey จึงยุติการวางจำหน่ายลงไปท่ามกลางความเสียหายของลูกค้าที่เป็น ‘แฟน’ ไม่ต่างอะไรจาก Eden ของ Cacharel กระนั้น น้ำหอมอีกกลิ่น ซึ่งใช้เฉดสีแดงสดเจิดจ้าใกล้เคียงกันกับอีกรูปทรงของขวดบรรจุ ก็มอบแนวกลิ่นแปลกใหม่สไตล์ niche ไม่แพ้กัน ทว่าน้ำหอมกลิ่นนั้นกลับยังคงมีวางจำหน่ายมาจนถึงปัจจุบัน (ทั้งที่มีข่าวลือว่าจะยุติการผลิตมาหลายรอบ) นั่นก็คือ Gucci Rush 

 

ภาพโฆษณา Gucci Rush รุ่นแรกเมื่อปี 1999 ที่มาของภาพ: เว็บไซต์ทางการของ Gucci 

 

ในขณะที่การออกแบบ Le Feu d’Issey อาศัยโจทย์คำถามว่า “ถ้าหากไฟมีกลิ่น จะให้กลิ่นเป็นอย่างไร?” มิเชล อัลเมรักผู้ออกแบบ Gucci Rush ก็ใช้จินตนาการเชิงสมมุติคล้ายๆ กัน อันนำไปสู่การตกแต่งหัวน้ำหอมสกัดจากแพ็ทชูลิให้เผยบุคลิกกลิ่นแล็กโตน หรือยางน้ำนมออกมารองรับความฉ่ำชื่นของหัวน้ำหอมปรุงสูตรกลิ่นลูกพีชสุกสดฉ่ำ และเจือความเผ็ดร้อนเหมือนไฟปะทุจากเมล็ดผักชีลงไปเพื่อให้น้ำหอมตระกูลกลิ่นผสม หรือ ‘ชีพเพร’ (chypre) แนวกลิ่นไม้มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ในขณะที่ Le Feu d’Issey เป็นกลิ่นยางหนังสติ๊กไหม้ไฟ Gucci Rush คือพลาสติกซิลิโคนกำลังหลอมละลาย ให้ความรู้สึกถึงประกายแสงสว่างไสวในบรรยากาศปาร์ตีดิสโกเธค ซึ่งผู้คนกำลังเมากรึ่มได้ที่ พร้อมกับข้อความทางการประชาสัมพันธ์อันสื่อว่า “กลิ่นหอมเสมือนเมายา” ทำให้น้ำหอมกลิ่นนี้ทะยานสู่ตำแหน่งน้ำหอมติดอันดับขายดีในทันที่วางจำหน่ายเมื่อปี 1999 และแนวกลิ่นกลิ่นหอมเมายา หรือน้ำหอมเสพติดนี้ ได้กลายเป็นต้นแบบการสร้างสรรค์ให้อีกหลายแบรนด์ในยุคต่อมา อาทิเช่น Dior Addict กลิ่นต้นแบบเมื่อปี 2002 ซึ่งวางแนวทางการออกแบบว่า “กลิ่นหอมของการเสพติดตัวเอง” 

 

นอกจากน้ำหอมทั้งสี่ที่ได้หยิบยกมาข้างต้น ยังมี Bvlgari Black, Dzing ของ L’Artisan Parfumeur และ Body Kouros ของ Yves Saint Laurent เป็นอาทิ ที่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นบทสรุปแนวกลิ่นนวัตกรรมของวงการ และยังเป็นต้นแบบปูทางให้กับการสร้างสรรค์น้ำหอมรุ่นใหม่ต่อมาจนถึงปัจจุบันสืบ สิ่งซึ่งน่าสังเกตนั้นก็คือ ถึงแม้น้ำหอมทั้งหลายเหล่านี้จะให้กลิ่นแปลกใหม่ บางกลิ่นเสมือนหลุดมาจากโลกอนาคต หรืออีกมิติ กระนั้น ทุกกลิ่นกลับได้รับการออกแบบขึ้นโดยอาศัยขนบธรรมเนียมสุดคลาสสิกของศิลปะการปรุงน้ำหอมฝรั่งเศสแบบดั้งเดิม ที่เพิ่มเติมจากมาตรฐานนั้นก็คือวิสัยทัศน์กับความกล้าที่จะนำกลิ่นในจินตนาการอย่างที่คนทั่วไปไม่คิดว่ากลิ่นนั้นจะกลายเป็นน้ำหอมมาใช้เป็นองค์ประกอบ หรือจุดเริ่มต้นทางการสรรค์สร้าง ทว่าด้วยไหวพริบทางการพลิกแพลงทักษะความชำนาญแขนงต่างๆ ในศาสตร์สุคนธศิลป์ ถึงแม้บางกลิ่นจะยุติการวางจำหน่ายไปแล้ว กระนั้น ก็ยังคงเป็นบทอ้างอิง หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมน้ำหอม เหนืออื่นใดก็คือ ได้กลายเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้แก่นักออกแบบน้ำหอมรุ่นต่อๆ มาได้เป็นอย่างดี

 

หรือหากเพื่อนๆ สนใจเรื่องน้ำหอม ไม่ว่าจะเป็นสั่งซื้อน้ำหอมกลิ่นต่างๆ หรือสนใจเรียน workshop เพื่อครีเอทกลิ่น และรังสรรค์ผลิตภัณฑ์จากน้ำหอม ด้วยตัวเอง สามารถติดต่อ iamingredient ได้นะคะ มาร่วมกันหากลิ่นที่ช่วยสร้างบรรยากาศในห้องให้ดีขึ้นในแบบของเพื่อนๆ เองกันค่ะ

หรือติดตามข่าวสารที่น่าสนใจ ของ iamingredient ผ่านทางเว็บไซต์ และ facebook fanpage: https://www.facebook.com/iamingredient

 

Guru
Guru iamingredient

กูรูเฉพาะด้าน

 

@iamingredient

ติดตามโปรโมชั่นพิเศษและเคล็ดลับดีๆ
iam in และ iam academy

add-friend-line-iamingredient


related video